หมวดหมู่: สภาหอการค้าไทย

1aaaaEAหอการคา


หอการค้าฯเผยนักลงทุนต่างชาติยังเชื่อมั่นศก.ไทย วอนรัฐปรับระบบศุลกากร

        หอการค้าไทย เผยนักลงทุนต่างชาติ มองเศรษฐกิจไทย มียังมีแนวโน้มดี พร้อมคาดหวังภาครัฐ มีการพัฒนาและปรับปรุงระบบที่เกี่ยวกับศุลกากร เพื่อเอื้อต่อการลงทุน และเร่งพัฒนาการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม พร้อมจับตาการเลือกตั้ง และการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่

      นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยผ่านเอกสารเผยแพร่ว่า ประเทศญี่ปุ่นมีความสำคัญต่อการลงทุนในประเทศไทยเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ในปี 2561 (ม.ค.-ธ.ค.) มีปริมาณเงินลงทุนในการยื่นขอส่งเสริมสูงที่สุด ด้วยจำนวน 334 โครงการ (คิดเป็น 32% ของโครงการลงทุนจากต่างชาติทั้งหมด) โดยเงินลงทุนส่วนใหญ่มาจากโครงการขนาดใหญ่ อาทิ กิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสม กิจการผลิตเคมีภัณฑ์ หรือพอลิเมอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กิจการผลิตเครื่องปรับอากาศที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง กิจการผลิตผลิตภัณฑ์โลหะ กิจการผลิตชิ้นส่วนยานพาหนะ เป็นต้น นอกจากนั้น ยังถือเป็นผู้ลงทุนอันดับ 1 ในพื้นที่ EEC ด้วยมูลค่าการลงทุน 109,600 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 46 ของการลงทุนในพื้นที่ EEC ทั้งหมด

       อย่างไรก็ตาม หอการค้าไทยเห็นว่า ประเทศไทยยังมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดี โดยในปี 2561 ที่ผ่านมา ขยายตัวได้ที่ 4.1% และคาดว่าจะเป็นแรงหนุนเศรษฐกิจในปี 2562 ให้ขยายตัวได้ในกรอบประมาณการของ กกร. ที่ 4.0-4.3% จากการส่งออก ลงทุนภาครัฐ และ การท่องเที่ยว

      “ความเสี่ยงที่ต้องดูต่อไปสำหรับประเด็นเรื่องสงครามการค้า และเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มเติบโตชะลอลง รวมทั้งผลกระทบจากค่าเงินบาท คาดว่าจะส่งผลให้การส่งออกของไทยในปี 2562 อาจขยายตัวชะลอลงมาอยู่ในกรอบประมาณการของ กกร.ที่ 5-7% เทียบกับที่ขยายตัว 6.7% ในปี 2561 อย่างไรก็ตาม การท่องเที่ยว ยังเป็นปัจจัยที่สำคัญในการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยในปี 2562 จะเติบโตในอัตราที่ใกล้เคียงกับในปี 2561 ที่ 7.5% ตามการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวในตลาดสำคัญ รวมทั้งนักท่องเที่ยวจีนที่น่าจะกลับเข้ามาเที่ยวเมืองไทยเช่นเดิม อันเป็นผลจากความร่วมมือกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น ด้านดูแลนักท่องเที่ยวและความปลอดภัย การอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวรวมถึง e-VISA” นายกลินท์ กล่าว

     ในระยะข้างหน้า หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยจะติดตามสถานการณ์ทั้งในและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นผลการเลือกตั้งทั่วไปและการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ความคืบหน้าเรื่องข้อพิพาทการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน รวมถึงความไม่แน่นอนเรื่อง Brexit ตลอดจนทิศทางการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท เพื่อประเมินผลต่อเศรษฐกิจและธุรกิจไทยอย่างใกล้ชิดต่อไป นอกจากนั้นอยากให้รัฐบาลเร่งเจรจาเพื่อเข้าร่วม CPTPP ที่เป็นประโยชน์ให้กับประเทศไทย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนต่างชาติ

      Mr.Stanley Kang, Chairman ประธานหอการค้านานาชาติ ( Joint Foreign Chamber of Commerce Thailand หรือ JFCCT) กล่าวเสริมว่า อยากให้รัฐบาลเร่งโครงการหลักๆ ของประเทศ อาทิเช่น EEC รวมถึงหลังเลือกตั้งก็อยากให้รัฐบาลพิจารณากลับมาเจรจาถึงความร่วมมือระหว่างประเทศด้านเศรษฐกิจต่างๆ เช่น FTA กับประเทศต่างๆ

       Mr.Tsuyoshi Inoue, Executive Managing Director หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (JCCB) เปิดเผยว่า หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ ได้สำรวจแนวโน้มทางเศรษฐกิจของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในประเทศไทย ในปี 2561 โดยสำรวจไปยังบริษัทที่เป็นสมาชิก JCCB จำนวน 1,761 ราย เพื่อสะท้อนสภาพธุรกิจของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในประเทศไทย พบว่า ดัชนีแนวโน้มเศรษฐกิจ (Diffusion Index : DI) ในช่วงครึ่งแรกของปี 2561 อยู่ที่ 34 (เท่ากับค่าดัชนีในช่วงครึ่งหลังของปี 2560) ในขณะที่ช่วงครึ่งหลังของปี 2561 ปรับตัวอยู่ที่ 29 และคาดการณ์ในช่วงแรกของปี 2562 อยู่ที่ 25 ซึ่งค่า DI มีค่าเป็นบวกติดต่อกันถึง 7 ช่วงการสำรวจ (ตั้งแต่ ปี 2559) ซึ่งสะท้อนว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มดีขึ้น ทั้งนี้ บริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมการผลิต คาดว่าในปี 2562 จะมีการลงทุนด้านโรงงานและเครื่องจักร โดยมีสัดส่วนลงทุนเพิ่มขึ้น 30% ขณะที่จะลงทุนเท่าเดิม 42%

     ในด้านการส่งออก บริษัทที่สำรวจคาดว่าในช่วงครึ่งแรก ปี 2562 จะส่งออกเพิ่มขึ้น 34% ส่งออกคงที่ 50% และอีก 16% คาดว่าจะส่งออกลดลง ในส่วนตลาดส่งออกที่มีศักยภาพในอนาคต พบว่า เวียดนามเป็นอันดับที่ 1 (46%) ของตลาดส่งออกจากประเทศไทยที่มีศักยภาพ ตามด้วย อินเดีย (34%) อินโดนีเซีย (33%) เมียนมา (22%) และญี่ปุ่น (20%) ตามลำดับ

     ประเด็นปัญหาด้านการบริหารองค์กร พบว่า ปัญหาที่พบมากที่สุดคือ การแข่งขันกับบริษัทอื่นที่รุนแรงขึ้น (69%) ส่วนปัญหารองลงมาได้แก่ ค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรเพิ่มสูงขึ้น (45%) ราคาวัตถุดิบหลักเพิ่มสูงขึ้น (32%) และการขาดแคลนวิศวกร (28%)

       สำหรับ ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยในการดำเนินธุรกิจ บริษัทส่วนใหญ่ระบุประเด็น การพัฒนาและปรับปรุงระบบที่เกี่ยวกับศุลกากร รวมถึงการบังคับใช้ (51%) ส่วนประเด็นรองลงมา ได้แก่ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล (46%) การส่งเสริมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการสาธารณูปโภค (43%) และการพัฒนาและการปรับปรุงการนำระบบภาษีมาปฏิบัติใช้ เช่น ระบบภาษีเงินได้นิติบุคคล (35%) นอกจากนั้น ยังมีประเด็นอื่น ๆ อีก ได้แก่ การรักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยน (35%) การปรับปรุงและพัฒนาด้านการศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ (34%) การผ่อนปรนกฎหมายการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (36%) และการแก้ไขปรับปรุงความสะดวกในการขอใบอนุญาตทำงานและวีซ่า (31%)

     ประเด็นผลกระทบจากสงครามการค้าสหรัฐ-จีน พบว่า ส่วนใหญ่ตอบว่า ไม่มีผลกระทบ (37%) มีผลกระทบในเชิงบวก 13% โดยมองว่าอาจมีการย้ายกำลังการผลิตจากจีนมายังไทย ในขณะที่ 32% ตอบว่าได้รับผลกระทบเชิงลบ โดยเห็นว่าปริมาณการส่งออกลดลง ปริมาณยอดขายในประเทศลดลง และค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อเพิ่มขึ้น

    นอกจากนี้ ยังได้สอบถามถึงนโยบายระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ที่เป็นประโยชน์ (บริษัทในอุตสาหกรรมเป้าหมาย) ซึ่งในประเด็นนี้ บริษัทส่วนใหญ่เห็นว่านโยบายที่เป็นประโยชน์มากที่สุด คือ แผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ EEC เช่น รถไฟความเร็วสูง โครงการขยายท่าเรือแหลมฉบัง โครงการขยายท่าเรือมาบตาพุด โครงการขยายสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา รองลงมา คือ การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลนานที่สุดถึง 13 ปี และการยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับเครื่องจักรกล

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!