หมวดหมู่: บริษัทจดทะเบียน

1aaaCKP20


CK Power COD Xayaburi Power 29 ตุลาคม 2562  โชว์ความสมดุลระหว่างธุรกิจและสิ่งแวดล้อม ความทันสมัยทางปลาผ่าน

      CKPower โชว์ความพร้อมโรงไฟฟ้าพลังน้ำไชยะบุรี หลังกฟผ.ออกหนังสือรับรอง (Commercial Operation Date : COD) โรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี 7 เครื่อง 1,220 เมกะวัตต์ แล้ว โชว์ความสมดุลระหว่างธุรกิจและสิ่งแวดล้อม ความทันสมัยด้วยประตูระบายตะกอนแขวนลอยและตะกอนหนักใต้น้ำ มีเทคโนโลยีทางปลาผ่านที่ทันสมัย พร้อมเดินเครื่องเต็มสูบ 29 ต.ค.2562  ส่งส่งเข้าระบบกฟผ. 95% และเข้าระบบส่งไฟฟ้า สปป.ลาว 5%

         นายธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) CKP เผยว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ออกหนังสือรับรองความพร้อมในการขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date : COD) สำหรับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าจำนวน 7 เครื่อง กำลังการผลิตรวม 1,220 เมกะวัตต์ของโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ภายหลังที่บริษัทฯ ได้ทยอยเดินเครื่องทดสอบระบบการจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบของ กฟผ.เป็นไปอย่างราบรื่น มีความเสถียรและมั่นคง โดยในช่วงทดสอบระบบไฟฟ้าดังกล่าว เป็นการขายไฟฟ้าราคาถูกก่อนการขายไฟเชิงพาณิชย์

        "เดือนสิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา เครื่องกำเนิดไฟฟ้าตัวที่ 7 ได้ทดสอบแล้วเสร็จจึงเริ่มขายไฟ โดยจะมีการทดสอบทั้ง 7 เครื่องพร้อมกันว่า ผ่านตามมาตรฐาน กฟผ.หรือไม่???... เป็นการดับไฟอย่างกระชาก!!!... ซึ่งต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า โรงไฟฟ้ามีประสิทธิภาพ เมื่อทดสอบเสร็จจึงได้รับใบรับรอง และมั่นใจว่าโรงไฟฟ้าพร้อมที่จะจำหน่ายไฟในวันที่ 29 ตุลาคม 2562 นี้ได้แน่นอน"               

 

 

       ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี เป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบฝายน้ำล้นแห่งแรกบนแม่น้ำโขงตอนล่าง ตั้งอยู่ในแขวงไซยะบุรี สปป.ลาว เริ่มการก่อสร้างตั้งแต่ปี 2555 มีกำลังการผลิตติดตั้งรวมทั้งสิ้น 1,285 เมกะวัตต์ โดยอยู่ในสัญญาการซื้อขายไฟให้แก่ กฟผ. ทั้งหมด 1,220 เมกะวัตต์ ผลิตไฟฟ้าได้ 7,370 ล้านหน่วยต่อปี จากเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ขนาดเครื่องละ 175 เมกะวัตต์ จำนวน 7 เครื่อง โดยส่งเข้าสู่ประเทศไทยด้วยสายส่งขนาด 500 กิโลโวลต์ จากสปป.ลาว เข้าทาง อ.ท่าลี่ จ.เลย และส่งให้รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (EDL)จำนวน 1 เครื่อง ขนาด 60 เมกะวัตต์ ด้วยขนาดสายส่ง 115 กิโลโวลต์ ภายในสปป.ลาว  

       'CK Power ใช้เวลา 12 ปี ย้อนไปปี 2007 ยังไม่มีใครทำโครงการใดๆ ในแม่น้ำโขงตอนล่าง จึงนับเป็นโครงการแรก ซึ่งช่วงที่ยังไม่เริ่มสร้าง จะเห็นว่าเป็นลำน้ำโขงตามธรรมชาติ มีเกาะ แก่งที่เกิดขึ้นในช่วงฤดูแล้ง จึงเลือกสร้างอยู่บนสันเนิน และให้ความสำคัญกับปลาเป็นพิเศษ ว่าจะผ่านโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีอย่างไร จึงได้ออกแบบ และลงทุนเพิ่มกว่าหมื่นล้านให้เหมือนธรรมชาติที่สุด ปลาผ่านได้เสมือนเดิม ซึ่งรัฐบาลลาวได้ออกหนังสือรับรองที่จะชดเชยให้อีกจากการลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อมที่นอกเหนือจากแบบที่เคยยื่นขออนุมัติโครงการ'

       นอกจากนี้ การโยกย้ายที่อยู่อาศัยของชาวบ้านที่อยู่บริเวณหน้างาน ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนที่เป็นโครงสร้างโรงไฟฟ้า โดยมีการจัดสร้างหมู่บ้านให้ใหม่ ทำถนน สร้างโรงเรียน มีระบบไฟฟ้า-ประปา ออกแบบอย่างยั่งยืน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตของคนที่อยู่รอบโรงไฟฟ้า ซึ่งที่เชื่อมกิจกรรมการพัฒนาที่สร้างสรรค์ พัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนควบคู่ไปกับธุรกิจพลังงานสะอาด ภายใต้กรอบแนวคิด Sustainable Power for the Future Generation ซึ่งจากปี 2007 ในวันนี้ระหว่างสองข้างทางจะพบว่า เริ่มมีบ้านคน ซุปเปอร์มาเก็ต สถานีบริการน้ำมัน ห้องน้ำสะอาดเกิดขึ้น มีความสะดวกสบายขึ้น เพราะเกิดจากมีโครงการเข้ามา มีถนน ซึ่งทำให้มีระบบน้ำประปา ระบบไฟเข้ามา ความเจริญจึงตามมา และเกิดเป็นเศรษฐกิจท้องถิ่น

       ด้วยวิสัยทัศน์ของผู้บริหารและทีมงานวิศวกร รวมทั้งที่ปรึกษาของ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) มีแนวคิดที่ตรงกันและยึดมั่นในการสร้างสมดุลระหว่างธุรกิจและความยั่งยืน โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรีจึงมิได้ เป็นโรงไฟฟ้าที่แสวงหาแต่ผลกำไรเป็นที่ตั้ง มีแนวคิดและความจริงใจในการบริหารโครงการที่เลือก การผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด และยั่งยืนควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อม ดังที่เห็นในรายละเอียดทางด้านการออกแบบทางวิศวกรรม และการกล้าที่จะลงทุนเพิ่มเพื่อดูผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด

       นอกจากนี้ บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาลงทุนโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่สปป.ลาว และเมียนมา รวมถึงโครงการโซลาร์ รูฟท็อป และโรงไฟฟ้าประเภท SPP ตามแผน PDP 2018 โดยตั้งเป้าในปี 2568 จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งรวม 5,000 MW จากปัจจุบันมีอยู่ที่ 2,167MW

        นายอานุภาพ วงศ์ละคร รองกรรมการผู้จัดการงานเดินเครื่องและบำรุงรักษา บริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด เผยว่า เขื่อนไซยะบุรี พื้นที่เก็บน้ำมีจำกัด ถ้าน้ำไหลเข้าโครงการมากเกินปริมาณที่ใช้ผลิตไฟฟ้าคือ 5,000 ลูกบาศก์เมตร/วินาที จะถูกปล่อยไหลผ่าน กล่าวคือ ไหลมาเท่าไรปล่อยไปเท่านั้น โดยจะรักษาระดับให้คงที่ตลอดเวลาที่ 275 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล นอกจากนี้ ยังมีทางเดินเรือตามข้อกำหนด MRC รวมถึงมีการบริหารจัดการตะกอน ทั้งตะกอนหนัก (3%) และแขวงลอย (97%) ให้สามารถผ่านโรงไฟฟ้าไปได้ ขณะที่การใช้งานเรือใหญ่เล็ก สามารถผ่านได้สะดวกสบายเหมือนที่ชาวเรือคุ้นเคยตลอดปี ชาวบ้านไม่ต้องคอยหลบสิ่งกีดขวาง เพราะมีช่องทางสัญจรเรือ อย่างเรือขนาดเล็ก ทางโครงการจะใช้แทรกเตอร์ลากผ่านจุดโครงการไปอีกฝั่งหนึ่งที่ชาวเรือต้องการข้ามไป

       “เราปล่อยน้ำสัมพันธ์กับน้ำไหลเข้า จุดแรกปล่อยน้ำไปที่ทางปลาผ่าน 40 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ส่วนที่สองคือผลิตไฟฟ้า โดยส่วนที่เหลือจากการผลิตไฟฟ้าจะปรับใช้กับทางระบายน้ำ เหล่านี้คือ องค์ประกอบหลักของการเดินเครื่องเขื่อนไซยะบุรี

      อย่างไรก็ตาม ต้องบอกว่า ขณะนี้โรงไฟฟ้าไซยะบุรี ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ในโซนหลวงพระบาง และไซยะบุรี โดยเรือท่องเที่ยวขนาดใหญ่ที่รับนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทย ลาว และชาวตะวันตกสายชิลล์ ที่ล่องมาจากทางตอนเหนือของหลวงพระบางมาตามลำน้ำโขงมุ่งหน้าลงใต้ อาจจะมีจุดหมายไปไกลถึงนครหลวงเวียงจันทน์หรือเวียดนาม ได้ต่างบรรจุโปรแกรมการพาเที่ยวชม และล่องผ่านนาวิเกชั่นล็อคของโรงไฟฟ้า เป็นไฮไลต์ของการเดินทางไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

 

 

       ด้านนางมัณฑนา เอื้อกิจขจร รองกรรมการผู้จัดการ งานวางแผนธุรกิจ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) CKP คาดว่า หลังเปิดขายจริงเชิงพาณิชย์ จะขายให้ กฟผ. 7000 GWh/year และ Edl 343 GWh/year โดยจะขายในราคา 2 Baht/kWh ซึ่งรายได้ที่จะเกิดขึ้นทั้งปี เบื้องต้นในไตรมาสแรกตั้งเป้าไว้ที่ประมาณ 20% ไตรมาสที่สอง 20% ไตรมาสที่สาม 32% และไตรมาสที่สี่อีก 28% ภายใต้สัญญาสัมปทาน 30 ปี จะมีรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าในรูปแบบเชิงพาณิชย์แบบเต็มปีประมาณ 13,000-14,000 ล้านบาท และจะมีอัตรากำไรสุทธิเฉลี่ยอยู่ที่ 12-15%    

   นายธิติพัฒน์ นานานุกูล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานการเงินบัญชี บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน)  CKP เผยว่า คาดรายได้ปี 2562 จะทำได้ประมาณ 9,000-10,000 ล้านบาท ใกล้เคียงกับปี 2561 ที่มีรายได้ 9,156 ล้านบาท ในงวดครึ่งแรกของปี บริษัทมีรายได้แล้ว 4,752 ล้านบาท

  ปี 2562 รายได้หลักจะมาจาก โรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำงึม 2 ขนาดกำลังการผลิต 615 เมกะวัตต์ (MW) แม้ว่าในไตรมาส 3/62 จะมีปริมาณมวลน้ำไหลเข้าระบบเป็นจำนวนน้อยจากปัญหาภัยแล้ง แต่ในช่วงครึ่งแรกของปีมีปริมาณน้ำที่ไหลเข้าสู่ระบบเป็นจำนวนมาก แต่ขณะที่โรงไฟฟ้าSPP 2 แห่ง กำลังผลิตรวม 240 MW ยังมีลูกค้าจากกลุ่มอุตสาหกรรมต่อเนื่อง

  ในช่วง 3 เดือนที่เหลือของปี 2562 นี้จะเริ่มรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าไซยะบุรี ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้า 1,285 MW ที่จะกำหนดจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์เป็นวันแรก 29 ต.ค.62 บริษัท CKPower ถือหุ้น 37.50%

    สำหรับ แนวโน้มผลประกอบการปี 2563 เบื้องต้นคาดอัตรากำไรสุทธิมีโอกาสที่จะปรับเพิ่มขึ้นเป็นตัวเลขสองหลัก เพราะรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าไซยะบุรี ที่จะจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์แบบเต็มปี

        ส่วน โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี ออกแบบตามหลักเกณฑ์ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ให้มีลักษณะเป็นฝายทดน้ำขนาดใหญ่ ที่ไม่มีการกักเก็บน้ำไว้เลย มวลทั้งหมดของน้ำรวมทั้งตะกอนขนาดต่างๆ สามารถไหลผ่านโครงสร้างโรงไฟฟ้าไปได้ทั้งหมด และแน่นอนว่า นั่นหมายถึงการเดินทางของฝูงปลาด้วย

        โครงสร้างของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรีตั้งแต่ฝั่ง ช่องทางเดินเรือ (Navigation Lock) ในทุกๆครั้งที่มีการเปิดประตูน้ำเพื่อให้เรือสัญจรผ่าน ฝูงปลาสามารถเดินทางตามกระแสน้ำไปพร้อมๆ กับการเปิดประตูน้ำให้เรือผ่านไปได้ ผ่านประตูน้ำทั้ง 11 บาน ที่ระดับความลึกต่างกัน โดยเป็นประตูระบายน้ำล้นระดับผิวน้ำ 7 บาน (Surface Spillway) และประตูระบายระดับท้องน้ำ( Low Level Outlet) จำนวน 4 บาน

       ในส่วนของโครงสร้างเกาะกลางน้ำ (Intermediate Block) ไล่ไปจนถึงด้านหน้าของโรงไฟฟ้า (Powerhouse) ซึ่งเป็นส่วนผลิตกระแสไฟฟ้า จะมีช่องทางปลาเข้าหลายช่อง (Multi Fish Entrance) สำหรับการเคลื่อนที่ของปลาลงท้ายน้ำ ( Downstream Migration)จากช่องทางปลาเข้าเหนือโรงไฟฟ้า จะนำปลาเข้าสู่บ่อพักปลา(Resting Pool) และค่อยๆ ไหลไปตามกระแสน้ำในช่องทางปล่อยปลาลงท้ายน้ำ (Zigzag Exit Chute) ซึ่งจะส่งให้ปลาไหลไปตามกระแสน้ำได้อย่างละมุนละม่อมโดยมีอัตราการรอดสูง

        สำหรับ ในส่วนกังหันโรงไฟฟ้า มีโอกาสที่ปลาจะไหลตามกระแสน้ำผ่านกังหันน้ำที่เป็นมิตรต่อปลา (Fish Friendly Turbine) ซึ่งเป็นกังหันน้ำแนวตั้ง ชนิด Kaplan 5 ใบพัด มีรอบในการหมุนช้า และมีช่องว่างระหว่างใบพัดกับผนังท่อน้อยกว่าชนิดอื่น จึงทำให้ปลาสามารถผ่านไปได้โดยเกิดอันตรายน้อยที่สุด   

        ทั้งนี้ บริษัทฯ CK Power ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานประเภทต่างๆ 3 ประเภท จำนวน 13 โครงการ รวมขนาดกำลังการผลิตติดตั้งที่ 2,167 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย โครงการไฟฟ้าพลังน้ำ 2 โครงการ ภายใต้ บริษัท ไฟฟ้าน้ำงึม 2 จำกัด ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้น 46% (ถือผ่าน บริษัท เซาท์อีสท์ เอเชีย เอนเนอร์จี จำกัด) ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 615 เมกะวัตต์ และบริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้น 37.5% ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 1,285 เมกะวัตต์ และมีกำหนดเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ภายในไตรมาส 4 ปี 2562 นี้ โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม จำนวน 2 โครงการ

       ภายใต้ บริษัท บางปะอิน โคเจนเนอเรชั่น จำกัด ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้นอยู่ 65% ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 238 เมกะวัตต์ และโครงการไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ 9 โครงการ ภายใต้ บริษัท บางเขนชัย จำกัด ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้น 100% จำนวน 7 โครงการ ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 15 เมกะวัตต์ ภายใต้ บริษัท เชียงรายโซล่าร์ จำกัด ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้น 30% จำนวน 1 โครงการ ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 8 เมกะวัตต์ และภายใต้บริษัท นครราชสีมา โซล่าร์ จำกัด ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้น 30% จำนวน 1 โครงการ ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 6 เมกะวัตต์

******************************************

line logotwitterLike1 Share3Like1 Share1กด Like - Share  เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ

 Click Donate Support Web

ais 790x90GC 790x90

sme 720x90banpu 720x90 new1 1

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!