หมวดหมู่: บริษัทจดทะเบียน

TRIS7 10


ทริสเรทติ้ง ลดอันดับเครดิตองค์กร & หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 'บ. ไทยคม' เป็น 'BBB+' จาก 'A-'และเปลี่ยนแนวโน้ม เป็น 'Stable' จาก 'Negative'

     ทริสเรทติ้ง ลดอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) เป็นระดับ 'BBB+' จาก 'A-' และเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตเป็น 'Stable' หรือ 'คงที่' จาก 'Negative' หรือ 'ลบ' การลดอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงผลการดำเนินงานของบริษัทที่ถดถอยลงและอ่อนแอกว่าที่คาดไว้อันเป็นผลจากการลดลงของอัตราการใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมเนื่องจากการแข่งขันที่รุนแรง ตลอดจนการสูญเสียลูกค้า และภาวะทางการตลาดที่ไม่เอื้ออำนวย การลดอันดับเครดิตในครั้งนี้ยังพิจารณารวมไปถึงสถานะทางธุรกิจของบริษัทที่อ่อนแอลงจากสัญญาสัมปทานการดำเนินงานที่กำลังจะหมดอายุลงและความยากลำบากในการหาลูกค้าใหม่เพื่อดำรงกระแสรายได้ให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง

      อย่างไรก็ตาม ในการพิจารณาอันดับเครดิต ทริสเรทติ้งยังคำนึงถึงสถานะทางธุรกิจของบริษัทที่มีลักษณะเฉพาะในการเป็นผู้ให้บริการธุรกิจสื่อสารดาวเทียมเพียงรายเดียวในประเทศไทย ตลอดจนความรู้และความเชี่ยวชาญของบริษัทในตลาดการให้บริการธุรกิจสื่อสารดาวเทียมอีกด้วย ทั้งนี้ อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงภาระหนี้ในระดับปานกลางและสภาพคล่องของบริษัทซึ่งมีเพียงพอที่จะใช้ชำระคืนหนี้สินที่จะครบกำหนดได้แม้ว่าบริษัทจะอยู่ในสภาวการณ์ที่มีผลการดำเนินงานไม่ดีก็ตาม

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

รายได้และกำไรยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง

        ในช่วง 3 ปีที่ผ่าน ผลการดำเนินงานของบริษัทถดถอยลงอย่างต่อเนื่องอันเป็นผลมาจากอัตราการใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมที่ลดลงจากการสูญเสียลูกค้า รวมถึงการแข่งขันที่รุนแรง และภาวะทางการตลาดที่ไม่เอื้ออำนวย รายได้ของบริษัทในปี 2562 อยู่ที่ระดับ 4.7 พันล้านบาท ลดลงจากระดับ 6 พันล้านบาทในปี 2561 และ 6.9 พันล้านบาทในปี 2560 ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 รายได้ของบริษัทยังคงลดลงที่ระดับ 26% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยมาอยู่ที่ 0.97 พันล้านบาทจากการปลดระวางดาวเทียมไทยคม 5 และการลดลงของอัตราการใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมบรอดแบนด์เป็นสำคัญ บริษัทพยายามที่จะเพิ่มรายได้จากธุรกิจใหม่ ๆ แต่จนถึงปัจจุบันรายได้จากธุรกิจใหม่ก็ยังไม่สามารถชดเชยรายได้ที่หายไปของธุรกิจดาวเทียมได้

       บริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายในปี 2562 อยู่ที่ประมาณ 1.8 พันล้านบาท ลดลงจากประมาณ 2.2 พันล้านบาทในปี 2561 และลดลงเหลือ 0.3 พันล้านบาทในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 จากระดับ 0.6 พันล้านบาทในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายอยู่ที่ระดับราว ๆ 32% ในไตรมาสแรกของปี 2563 ลดลงจาก 38% ในปี 2562 ซึ่งเป็นผลจากการมีรายได้ที่ลดลงและต้นทุนการดำเนินงานคงที่ที่อยู่ในระดับสูง

       ในช่วงปี 2563-2565 ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้และกำไรของบริษัทจะยังคงอยู่ภายใต้แรงกดดันต่อไปเนื่องจากสัญญาสัมปทานการดำเนินงานจะหมดอายุลงในปี 2564 ภายใต้สมมติฐานขั้นพื้นฐานของ ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ที่ไม่รวมการดำเนินงานของดาวเทียมไทยคม 4 และดาวเทียมไทย 6 หลังจากหมดอายุสัมปทานจะอยู่ในช่วง 1.5-3.5 พันล้านบาทต่อปี ในขณะที่รายได้ในช่วง 3 ปีข้างหน้ามีแนวโน้มที่จะลดลงอย่างต่อเนื่อง เมื่อพิจารณาจากพื้นฐานของธุรกิจดาวเทียมที่มีต้นทุนการดำเนินงานคงที่ที่อยู่ในระดับสูงแล้ว ทริสเรทติ้งคาดว่าในช่วง 3 ปีข้างหน้า อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะหดตัวลงมาอยู่ในช่วง 26%-29%

        ทริสเรทติ้ง คาดว่า รายได้ของบริษัทจะไม่ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ในปี 2563 เนื่องจากบริษัทเป็นผู้ให้บริการพื้นฐานด้านการสื่อสารผ่านดาวเทียมในลักษณะการขายส่งช่องสัญญาณดาวเทียม อย่างไรก็ตาม หากภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังคงยืดเยื้อก็อาจส่งผลกระทบต่อรายได้โฆษณาของลูกค้าของบริษัทในกลุ่มธุรกิจออกอากาศทางโทรทัศน์และอาจส่งผลกระทบต่อรายได้ของบริษัทได้

สัมปทานการดำเนินงานใกล้หมดอายุ

      ปัจจุบันบริษัทให้บริการด้วยดาวเทียมแบบวงโคจรค้างฟ้าจำนวน 4 ดวง โดยดาวเทียม 2 ดวง คือ ดาวเทียมไทยคม 4 หรือไอพีสตาร์ และดาวเทียม ไทยคม 6 อยู่ภายใต้สัญญาสัมปทาน 30 ปีที่จะหมดอายุลงในปี 2564 ส่วนดาวเทียมอีก 2 ดวงคือ ไทยคม 7 และไทยคม 8 ให้บริการภายใต้ใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ระยะเวลา 20 ปี ซึ่งจะสิ้นสุดในปี 2575

      เมื่อไม่นานมานี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้ให้สิทธิ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (กสท.) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของไทย ในการบริหารดาวเทียมไทยคม 4 และดาวเทียมไทยคม 6 หลังสัญญาสัมปทานสิ้นสุดในเดือนกันยายน 2564 อย่างไรก็ตาม รูปแบบธุรกิจในการบริหารจัดการดาวเทียมหลังสัมปทานสิ้นสุดยังไม่มีข้อสรุปในเวลานี้

      บริษัทกำลังเผชิญกับความท้าทายหลายประการจากสัญญาสัมปทานการดำเนินงานที่จะหมดอายุลงในปี 2564 การหาลูกค้าใหม่เป็นสิ่งที่บริษัททำได้ยากในขณะที่ลูกค้าที่มีอยู่บางรายยกเลิกสัญญาไป นอกจากนี้ บริษัทยังต้องเผชิญกับโครงสร้างกฎระเบียบที่ซับซ้อนอีกด้วย หลังจากสัมปทานสิ้นสุดลง บริษัทจะมีดาวเทียมเพียง 2 ดวงที่อยู่ภายใต้ใบอนุญาตในการดำเนินงานและสร้างรายได้ ในขณะที่ธุรกิจใหม่อย่างการให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมบนเรือ (Maritime Services) การให้บริการบริหารจัดการดาวเทียม และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับปัญญาประดิษฐ์นั้นยังไม่สามารถสร้างรายได้ในจำนวนมากเพียงพอที่จะทดแทนรายได้ที่ลดลงในธุรกิจให้บริการสื่อสารดาวเทียม

การปลดระวางดาวเทียมไทยคม 5 มีผลกระทบต่อรายได้จากธุรกิจดาวเทียมแบบทั่วไป

       ในปี 2562 บริษัทวางแผนจะใช้อากาศยานไร้คนขับหรือโดรนอวกาศ (Space Drone) ขึ้นไปเกาะติดกับดาวเทียมไทยคม 5 เพื่อจะช่วยรักษาตำแหน่งของดาวเทียมให้อยู่ในวงโคจรที่เหมาะสมต่อไปได้อีก 1 ปี อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายปี 2562 ดาวเทียมไทยคม 5 เกิดเหตุขัดข้องทางเทคนิคในการแจ้งสถานะดาวเทียมและบริษัทไม่สามารถกู้คืนระบบดังกล่าวได้ ดาวเทียมไทยคม 5 จึงต้องปลดระวางลงในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 บริษัทรับรู้การด้อยค่าสินทรัพย์ของดาวเทียมไทยคม 5 จำนวน 222 ล้านบาทในงบการเงินงวดสิ้นปี 2562

         ดาวเทียมไทยคม 5 เป็นดาวเทียมทั่วไปขนาดใหญ่ที่สุดของบริษัทซึ่งมีความจุของช่องรับส่งสัญญาณจำนวน 40 ช่องและอยู่ในวงโคจรที่ตำแหน่ง 78.5 องศาตะวันออกซึ่งเป็นตำแหน่งวงโคจรหลักของประเทศไทย การปลดระวางดาวเทียมไทยคม 5 ทำให้จำนวนความจุของช่องรับส่งสัญญาณดาวเทียมแบบทั่วไปของบริษัทลดลงเหลือ 71 ช่องจาก 111 ช่อง อีกทั้งยังเพิ่มแรงกดดันในด้านรายได้ให้แก่บริษัทด้วย บริษัทได้โอนย้ายลูกค้าบางส่วนจากดาวเทียมไทยคม 5 ไปยังดาวเทียมดวงอื่นๆ ของบริษัท ในขณะที่ลูกค้าบางส่วนเลิกสัญญาไป นอกจากนี้ จำนวนช่องโทรทัศน์ที่ออกอากาศโดยใช้ดาวเทียมแบบทั่วไปของบริษัทก็ลดลงเหลือ 564 ช่อง ณ เดือนมีนาคม 2563 จาก 972 ช่อง ณ สิ้นปี 2562 ทั้งนี้ บริษัทมีรายได้จากธุรกิจดาวเทียมแบบทั่วไปที่ระดับ 2.5 พันล้านบาทในปี 2562 และอยู่ที่ 0.5 พันล้านบาทในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 โดยรายได้ปรับลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 29% ในปี 2562 และลดลงอีก 17% ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2563

       ทริสเรทติ้ง คาดว่าในอนาคตรายได้จากธุรกิจดาวเทียมแบบทั่วไปของบริษัทจะขึ้นอยู่กับการเพิ่มอัตราการใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมไทยคม 7 และดาวเทียมไทยคม 8 เป็นสำคัญ ทั้งนี้ อุตสาหกรรมการกระจายเสียงและการแพร่ภาพออกอากาศในประเทศไทยได้เข้าสู่สภาวะอิ่มตัวแล้ว บริษัทจึงพยายามขยายการใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมไปยังประเทศเพื่อนบ้านและประเทศอื่นๆ ในแถบเอเซียใต้ อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าการแข่งขันด้านราคาจะยังคงอยู่ต่อไป นอกจากนี้ บริษัทยังจะขยายธุรกิจการให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมบนเรือและเร่งสร้างรายได้จากธุรกิจใหม่อื่น ๆ อีกด้วยเช่นกัน

อัตราการใช้ดาวเทียมบรอดแบนด์ไอพีสตาร์ลดลง

      อัตราการใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมไอพีสตาร์อยู่ที่ระดับ 21.2% ณ เดือนมีนาคม 2563 ลดลงจาก 22.5% ในปี 2562 และ 29.9% ในปี 2561 จากผลของอัตราการใช้บริการที่ลดลงในประเทศอินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และไทยเป็นสำคัญ บริษัทมีรายได้จากธุรกิจดาวเทียมไอพีสตาร์ในปี 2562 ทั้งสิ้น 2.1 พันล้านบาทและอยู่ที่ระดับ 0.4 พันล้านบาท ณ ไตรมาสแรกของปี 2563 โดยรายได้ลดลง 10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 และลดลงอีก 33% ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2563

        ณ เดือนมีนาคม 2563 ประเทศอินเดียเป็นตลาดที่ใช้บริการช่องสัญญาณดาวเทียมไอพีสตาร์สูงสุดโดยอยู่ที่ระดับประมาณ 6.5% ของช่องสัญญาณรวม บริษัทคาดว่าจะเพิ่มอัตราการใช้ดาวเทียมในภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งสร้างโอกาสในการเติบโตในการให้บริการบริหารจัดการดาวเทียม อีกทั้งยังคาดหวังที่จะขยายธุรกิจดาวเทียมในโครงการที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ในประเทศไทยอีกด้วย

       ปัจจุบันบริษัทกำลังพิจารณาที่จะสร้างดาวเทียมบรอดแบนด์ดวงใหม่โดยคาดว่าโครงการนี้จะเริ่มได้ในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ เนื่องจากสัญญาสัมปทานการดำเนินงานของบริษัทกำลังจะหมดอายุลงในปี 2564 บริษัทต้องเผชิญกับความยากลำบากในการเจรจากับลูกค้าดาวเทียมบรอดแบนด์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน หากบริษัทไม่มีโครงการดาวเทียมบรอดแบนด์ดวงใหม่แล้ว รายได้ของบริษัทจากธุรกิจนี้จะลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ภาระหนี้อยู่ในระดับปานกลาง

       บริษัทมีภาระหนี้อยู่ในระดับปานกลาง โดยเงินกู้รวมของบริษัทอยู่ที่ 4.3 พันล้านบาท ณ เดือนมีนาคม 2563 ซึ่งอยู่ในระดับใกล้เคียงกับ ณ สิ้นปี 2562 แต่ปรับลดลงจากระดับ 7 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2561 เนื่องจากบริษัทมีการชำระคืนหุ้นกู้ที่ครบกำหนดและจ่ายคืนเงินกู้ นอกจากนี้ บริษัทยังไม่มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาอีกด้วย บริษัทจึงมีสถานะทางการเงินเป็นเงินสดสุทธิ (Net Cash Position) โดย ณ เดือนมีนาคม 2563 บริษัทมีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด รวมถึงเงินลงทุนชั่วคราวในหลักทรัพย์ก้อนใหญ่รวมทั้งสิ้นเกือบ 6 พันล้านบาท ซึ่งเพียงพอที่จะใช้ชำระคืนภาระหนี้ตามกำหนดและใช้เป็นเงินลงทุนในกรณีที่มีความจำเป็น

       บริษัทคาดว่าจะใช้เงินลงทุนเพื่อบำรุงรักษาสินทรัพย์โดยรวมประมาณ 0.1 พันล้านบาทในช่วง 3 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ หากบริษัทไม่มีการลงทุนในโครงการดาวเทียมดวงใหม่ ทริสเรทติ้งจึงคาดว่าระดับภาระหนี้ของบริษัทจะลดลงอย่างต่อเนื่องต่อไป อย่างไรก็ตาม หากการลงทุนดาวเทียมดวงใหม่เกิดขึ้นเพื่อสร้างการเติบโตของธุรกิจก็คาดว่าเงินสดที่มีรวมถึงเงินลงทุนชั่วคราวจะช่วยรองรับการลงทุนขนาดใหญ่ได้พอสมควร โดยคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินรวมต่อเงินทุนของบริษัทจะอยู่ในระดับไม่เกิน 35%

มีสภาพคล่องที่เพียงพอ

      ทริสเรทติ้ง ประเมินว่าบริษัทจะมีสภาพคล่องที่เพียงพอในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ ณ เดือนมีนาคม 2563 บริษัทมีแหล่งเงินทุนซึ่งประกอบไปด้วยเงินสดในมือและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 2.5 พันล้านบาทและเงินลงทุนมูลค่า 3.4 พันล้านบาท โดยคาดว่าบริษัทจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานที่ระดับประมาณ 1 พันล้านบาทในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ในขณะที่แหล่งเงินทุนนั้นน่าจะเพียงพอต่อความต้องการในอนาคตได้ โดยความต้องการใช้เงินทุนจะประกอบไปด้วยเงินลงทุนเพื่อบำรุงรักษาสินทรัพย์โดยรวมที่ประมาณ 0.1 พันล้านบาทในช่วง 3 ปีข้างหน้าและการชำระคืนหนี้สินที่จะครบกำหนด ทั้งนี้ บริษัทมีเงินกู้ระยะยาวจากธนาคารที่จะครบกำหนดชำระประมาณ 0.2 พันล้านบาทในปี 2563 และมีหุ้นกู้และเงินกู้ธนาคารที่จะครบกำหนดชำระอีกประมาณ 2.7 พันล้านบาทในปี 2564

        ทริสเรทติ้ง เชื่อว่าบริษัทจะยังคงสามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อกำหนดทางการเงินที่บริษัทมีกับธนาคารและผู้ถือหุ้นกู้ในช่วง 12 ถึง 18 เดือนได้ โดยข้อกำหนดทางการเงินระบุให้บริษัทต้องคงระดับอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อส่วนทุนไม่ให้เกิน 2 เท่า ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2562 บริษัทมีอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อส่วนทุนอยู่ที่ 0.7 เท่า

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

  • รายได้ของบริษัทจะได้รับแรงกดดันโดยคาดว่าจะอยู่ในช่วง 1.5-3.5 พันล้านบาทในระหว่างปี 2563-2565
  • อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จะอยู่ในช่วง 26%-29% ในระยะ 3 ปีข้างหน้า
  • บริษัทจะใช้เงินลงทุนเพื่อบำรุงรักษาสินทรัพย์ทั้งสิ้นประมาณ 0.1 พันล้านบาทในช่วงปี 2563-2565

แนวโน้มอันดับเครดิต

               แนวโน้มอันดับเครดิต 'Stable' หรือ 'คงที่' สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงรักษาสถานะทางการตลาดที่มีลักษณะเฉพาะตลอดจนความเชี่ยวชาญในธุรกิจการให้บริการสื่อสารดาวเทียมไว้ได้ต่อไป อีกทั้งยังคาดหวังว่าธุรกิจใหม่จะค่อยๆ สร้างรายได้เพิ่มขึ้นแม้จะใช้เวลาก็ตาม ในขณะที่โครงการดาวเทียมดวงใหม่จะช่วยฟื้นรายได้ให้แก่บริษัทในระยะยาว นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดหวังให้บริษัทยังคงรักษาระดับสภาพคล่องให้เพียงพอที่จะใช้ชำระคืนหนี้ที่จะครบกำหนดได้แม้จะอยู่ในสภาวการณ์ที่ไม่เอื้ออำนวยก็ตาม

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

               อันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับการปรับลดลงหากผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนแอลงกว่าที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์ไว้ ในขณะที่อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากผลการดำเนินงานของบริษัทดีกว่าที่

               ทริสเรทติ้ง คาดไว้ อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจจะได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากบริษัทสามารถดำเนินแผนธุรกิจใหม่ได้สำเร็จ หรือธุรกิจรูปแบบใหม่สามารถสร้างรายได้จำนวนมากและสม่ำเสมอเป็นระยะเวลาที่ต่อเนื่องโดยที่บริษัทยังคงรักษาสถานะสภาพคล่องและความยืดหยุ่นทางการเงินให้มีความแข็งแกร่งเอาไว้ได้

เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง

- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562

- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561

บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) (THCOM)

อันดับเครดิตองค์กร: BBB+

อันดับเครดิตตราสารหนี้:

THCOM21OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 BBB+

THCOM21OB: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,775 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 BBB+

แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com

ติดต่อ This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500

             บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2563 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้

           ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html

COREHOON

******************************************

line logotwitterLike1 Share3Like1 Share1กด Like - Share  เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ

 Click Donate Support Web

SAM720x100px bgGC 790x90

SME720 x 100banpu 720x90 new1 1

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!